วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 5 ) : 28/07/53 สุโขทัย ( อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย )

เช้าที่ครึ้มฟ้า ครึ้มฝน แต่ไม่อบอ้าว
พื้นที่แรกในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เขื่อนสรีดภงส์

ทำนบพระร่วง ภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณในการสร้างเขื่อนดิน สำหรับเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขา และขนระบายน้ำเข้าไปใช้ภายในตัวเมือง และบริเวณใกล้เคียงตัวเมือง นอกจากนี้ภายในตัวเมืองยังมีการขุดสระน้ำที่เรียกว่า ตราพัง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอย

วัดมังกร

เป็นเหมือนวัดป่า ที่อยู่รายรอบนอกเมืองเก่าสุโขทัย ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง

วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบ อินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง ๒๐๐ องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน

การเดินเข้าสู่วิหารหลัก จะถูกบังคับทางเดินด้านหน้าที่ทอดเข้าสู่หน้าวิหาร และด้วย Scale ของวิหาร เราจะถูกนำสายตา และเชื้อเชิญให้เข้าไปตำแหน่งนั้น เป็น Approach ที่นำความรู้สึกให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ
พระอัฏฐารศ ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ศูนย์บริการที่จำลองรูปแบบของอุทยานประวัติศาสตร์ นำรูปลักษณ์ที่สำคัญบางอย่าง มาใช้ในการออกแบบเพื่อให้สอดคล้อง กลมกลืน กับอุทยาน ด้วยวัสดุก่อสร้างแบบอิฐมอญ เจาะผนังเป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว หลังคาแบบจั่ว

วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวงเดิมเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ในสมัยของเรืองอำนาจ เนื่องจากพบชิ้นส่วนของเทวรูปและฐานศิวลึงค์ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัดในพระ พุทธศาสนาแบบมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก คูแม่โจน มีปรางค์ศิลาแลง 3 องค์เป็นประธานของวัด องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้พังเหลือแต่ฐาน เหลือเพียงองค์ด้านเหนือ หน้าบันประดับลายปูนปั้นเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้นที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศิลปะขอมสมัยบายน (รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) บริเวณหน้าปรางค์มีวิหารที่เหลือเพียงเสาใหญ่ศิลาแลง ถาวรวัตถุที่สร้างเสริมต่อขยายออกไปทางด้านหน้าของพระปรางค์สามองค์ เช่น เจดีย์เหลี่ยมที่เหลือเพียงยอดปรักหักพัง และมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท ได้แก่ นั่ง ยืน เดิน และนอน ปัจจุบันปรักหักพังลงเกือบหมด

วัดศรีชุม

วัดดศรีชุมมีการวางผังที่แปลกกว่าวัดทั่วไป ที่ใช้มณฑปที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัด และมีพระวิหารต่อออกมาแบบที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนของหลังคายังไม่อาจสรุปได้ว่าใช้การก่อสร้างแบบใด

Space ของลานกว้างเบื้องหน้าวัด และต้นไม้หน้าวิหาร เป็นองค์ประกอบที่ประสานและส่งเสริมให้ตัวสถาปัตยกรรมมีความงาม และคุณค่า

พระอจนะ พระประธาน Scale ที่ใหญ่ และตั้งประจันเมื่อคนเข้าสักการะ ให้ความรู้สึกสูงส่ง เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ก่อให้เกิดจิตศรัทธา เคารพ และมีผลกับจิตใจอย่างมาก

วัดศรีสวาย

เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ลักษณะเป็นปรางค์สามยอดแบบขอม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ มีคูน้ำล้อมรอบปรางค์สามองค์ โบราณสถานดังกล่าวนี้มีที่มาจากทรงปราสาทแบบขอม แต่ได้รับการดัดแปลงแตกต่างจากต้นแบบ เช่นส่วนประดับของปราสาทขอมที่เรียกว่า บันแถลง กลายเป็นรูปกลีบขนุน และปูนปั้นประดับกลีบขนุนเป็นรูปครุฑยุดนาคและเทวดา ปรางค์วัดศรีสวายจึงแตกต่างจากปรางค์สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีต้นแบบจาก ปรางค์ในศิลปะขอมและคล้ายคลึงแบบขอมมากกว่าปรางค์ในแบบของช่างสุโขทัย

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ทรงพบรูปพระอิศวรและและโบราณวัตถุหินจำหลักเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสิ นธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กร และชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ทำด้วยสำริด จึงทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้คงเป็นสถานที่พวกพราหมณ์ใช้ทำพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) แต่ต่อมาเมื่อคนไทยเข้ามาครอบครองกรุงสุโขทัย วัดนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา

ส่วนสำคัญคือ Texture และจังหวะของการเล่นรูปด้าน ที่มีความจัดเจนในองค์ประกอบ การจัดวางศิลาแลง คราบของความเก่าในวัสดุ การเจาะช่องเปิด ความลดหลั่นของระนาบตั้งและนอน ที่ก่อเป็นสถาปัตยกรรมขึ้นมา ทำให้อาคารมีความงาม และคุณค่า ตามรูปลักษณ์ที่ปรากฏอยู่


เอ้า !!!!! ล-----ง
ซึมซับ และเรียนรู้ บ้านของชาวบ้านที่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างเด่นชัด และเมื่อนำความรู้ทางสถาปัตยกรรมไปจับต้อง
แล้วมีคุณค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น