วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Assignment #4 Professional Practice 53

บทสัมภาษณ์ พี่ตั้ม คุณปวีณ กอบบุญ
Director : Palmer & Turner (Thailand) Ltd.


1. อยากทราบประวัติส่วนตัวสักเล็กน้อยของพี่ตั้มครับ พี่เข้าเรียนปีไหน จบแล้วพี่ทำงานเลยหรือเปล่า หรือพี่ไปต่อโท ที่ไหน ทำงานอะไรที่ไหนบ้างครับ?
: พี่เข้าเรียนประมาณปี 1988 ก็ประมาณรุ่นก่อนอ.ไกรทอง สัก1-2 ปี เสร็จแล้วพอเรียนจบก็เข้าทำงานที่บริษัท Design Develop Co., Ltd. ทำงานอยู่ 4 ปี ก็ทำไปหลายตึกเหมือนกัน จากนั้นพี่ก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา พี่เรียนโท Master Of Science In Business Administration เรียนจบเสร็จแล้วก็ไปเรียนโท Master Architecture ,University Of Illinois เรียนจบก็กลับมาทำงานต่อที่ Design Develop อีกครึ่งปี ก็มาทำที่ P&T ( Palmer&Turner (Thailand) Ltd. ) ก็ทำตั้งแต่ประมาณปี 1995 จนถึงปัจจุบัน
ตำแหน่งเป็น Director ส่วนที่รับผิดชอบดูแลก็คือ ทุกอย่าง คือดูแลตั้งแต่ในส่วนของการออกแบบ ดูจนโครงการสร้างแล้วเสร็จ แล้วก็ดูในส่วนของ office ด้วย


2.งานและผล งานของพี่ตั้ม ที่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงาน?
: ก็คงเป็นที่ The Park Chidlom จริงๆแล้วไม่ใช่งานที่พี่ทำคนเดียว ก็คือมีทีมงานช่วยกันทำ คือจุดเริ่มต้นมันมาจากการที่เราประกวดแบบชนะ มีโอกาสได้ดูงานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ ไปจนประกวดแบบชนะ จนได้ทำแบบจริง แล้วก็ดูจนโครงการแล้วเสร็จ ที่คิดว่าดีก็เพราะได้ร่วมออกแบบตั้งแต่ต้น มีเวลาที่จะทำ ตลอดจนถึงเรามีลูกค้าที่ดี มีทีมงานที่ดี มีเจ้านายที่ดี เลยทำให้ได้ผลงานที่ดี เป็นที่พอใจ

ภาพจาก   http://www.emporis.com/en/wm/cx/?id=109582
3. ตั้งแต่ที่พี่ตั้มทำงานมาพบเจอกับอุปสรรค ปัญหาอะไรบ้างครับ?
: อุปสรรคก็จะมีจาก Factor ภายนอก ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจระดับโลก ระดับประเทศ จนถึงงานที่เราจะต้อง Deal กับ Developer กับเอกชน Factor ภายในก็เป็นการทำงานระหว่างแต่ละลูกค้า ซึ่งก็จะไม่เหมือนกัน การทำงานกับ Consult กับผู้รับเหมา แล้วก็มี Factor ภายในบริษัทเอง เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ ในระยะเวลาและมีความถูกต้อง ซึ่งพี่คิดว่า “ อุปสรรคเกิด เพื่อให้เราแก้ไข ” ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ผ่านมาได้ทั้งหมดนะครับ


4. อยากทราบว่าพี่ตั้มมีข้อคิด และวิธีปฎิบัติตนในการทำงานอย่างไรครับ?
: พี่คิดว่างานสถาปัตยกรรมอย่างแรก 1. คุณภาพของงาน งานที่ทำต้องมีคุณภาพ 2. เรื่องเวลา ต้องตรงต่อเวลา และต้องรวดเร็วในการทำงาน 3. ความถูกต้อง เนื่องจากงานของเราไม่ใช่ Art เพียงอย่างเดียว ซึ่งสถาปัตยกรรมต้องมีกฎหมาย มีความเป็น Physical อยู่ 4. ความตั้งใจ และ 5 .ความรับผิดชอบ ซึ่งความตั้งใจและความรับผิดชอบ จะเป็นส่วนที่ทำให้งานของเรามีคุณภาพ ทำให้ตรงต่อเวลา และทำให้งานมีความถูกต้อง คือช่วยผลักดันสามข้อแรกที่กล่าวมา


5. ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง จรรยาบรรณวิชาชีพ?
: พี่คิดว่าเรื่องเกี่ยวกับจรรยาบรรณมีหลายอย่าง อย่างข้อบังคับของสภาสถาปนิก พี่คิดว่าก็ได้ปฏิบัติตามจรรยามารยาท ของสถาปนิกอย่างเคร่งครัดอยู่แล้วนะครับ เข้าใจว่าด้วย Compile ของบริษัทเองโดยรวมก็เน้นในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าการทำงานกับผู้อื่นหรือส่วนของผลงาน Commission โดยอ้อมไม่มี รายได้บริษัทเรามาจากค่า Fee เพียงอย่างเดียว เนื่องเพราะเรามีความเป็น Professional Architect เพื่อให้งานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า รวมถึงเพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งที่ทำงานที่เดิม ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติมาโดยตลอด 100%


6. พี่ตั้มมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบในสมัยใหม่ ทิศทางของสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน จนถึงแนวโน้มในอนาคตอย่างไรบ้างครับ?
: ปัจจุบันเป็นโลกเปิด Communication ไม่จำกัด สมัยก่อนตอนเรียนงานที่เห็นก็มาจากอาจารย์ จากรุ่นพี่ ในหนังสือ สมัยนี้มี Internet UpdateแบบReal Time ความรู้ในเรื่องของ Knowledge มีการTransferแลกเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแข่งขันตาม ทำให้สถาปนิกสมัยใหม่มีการ Share ความรู้ในเรื่องที่ใกล้เคียงกันได้ ถ้าเรารับรู้ได้เร็ว เราก็จะพัฒนาเร็วได้ สถาปนิกที่Respond ช้า โอกาสที่จะได้รับงานก็น้อยลง เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาไม่ว่าจะทำงานมานานแค่ไหน สถาปนิกต้อง Practice การออกแบบอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็อาจจะตาม trend ไม่ทัน ยิ่งการแข่งขันจากต่างประเทศในทุกวันนี้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ การเปิดการค้าเสรีนั้นก็มีผล สถาปนิกไทยถ้าไม่พัฒนา ไม่รับผิดชอบ ไม่มีวินัยจะถูกกลืนหายไป แม้ทุกวันนี้จะมีจำนวนมากก็อาจจะถูกกลืนหายไปอยู่ในสายอาชีพอื่น


7. ข้อสุดท้ายแล้วครับ รบกวนพี่ตั้มช่วยฝากข้อคิดให้กับน้องๆรุ่นใหม่ที่จะจบออกไปทำงานด้วยครับ?
: ที่นี่ที่ P&T ก็มีน้องๆเข้ามาทำงานอยู่อย่างสม่ำเสมอนะครับ แต่ก็จะขาดหายไปอยู่ช่วงหนึ่ง สิ่งที่ดีของลาดกระบังก็คือ ความอดทน การเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งพอถึงเวลาในการสอนสิ่งใหม่ให้จะรับรู้ได้ดี ซึ่งพี่คิดว่าความอดทน การเปิดรับเนี่ยช่วงหนึ่งขาดหายไป มันจะเริ่มกลับมา พี่คิดว่าควรเก็บไว้ เพราะมันเป็นจุดเด่นของลาดกระบัง
ความอดทน ตั้งใจ การเรียนรู้สิ่งใหม่ อยากให้รักษาไว้ การทำงานจะให้ประสบความสำเร็จต้องใช้เวลา หมั่นฝึกฝน เพราะมันไม่มีทางลัด ขอฝากรุ่นน้องและอาจารย์ เก็บสิ่งที่ดีเหล่านี้ไว้ในรุ่นถัดๆไปด้วยครับ.

บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้พี่ตั้มบอกว่าไม่ต้องเอาลงไปก็ได้ แต่เนื่องจากกระผมเห็นว่ามีความสำคัญและน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาลงไว้ หากผิดพลาดประการใดกระผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


( ต่อจากข้อ 7.) : Generation ถัดไปนี่ต้องใช้วิจารณญาณเอง คือ Generation มันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม สิ่งที่จะเป็นคำถามกลับไปก็คือว่า เด็กรุ่นใหม่ทำงานได้เร็วขึ้น เปิดรับสิ่งใหม่ได้มากขึ้น แต่ความขยัน ตั้งใจ ยังแพ้ชาติอื่นอีกเยอะ คนไทยไอเดียดี แต่วินัย ความรับผิดชอบ ความตั้งใจในการทำงาน น้อยกว่าชาติที่พัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับเรานี่แหละ อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน พี่ว่าไทยเราใจเย็นเกินไป


ทั้งหมดที่พี่ตั้มกล่าวมา ก็คือเป็นแนวทางที่ทำให้พี่ตั้มเป็นได้อย่างทุกวันนี้รึเปล่าครับ?


: ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งนะครับ อย่างที่บอกมาส่วนหนึ่งเพราะได้เจ้านาย เพื่อนและทีมงานที่ดี สุดท้ายก็อยู่ที่โชคด้วย อย่างตอนที่พี่จบมาอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างดี และตัว Timing นี่ก็สำคัญ
ชีวิตสำคัญคือการแบ่ง Timing คือเราต้องรู้ว่าช่วงไหนเราต้องทำอะไร Timingก็คือเป็นการแบ่งว่าช่วงชีวิตนี้ในระยะเวลานี้เราจะทำอะไร แล้วต่อจากนี้ทำอะไร เป็นการวางแผนให้ชีวิต มันเป็นอะไรที่มากกว่าการแบ่งเวลา ในชีวิตประจำวัน


การจะแบ่ง Timing เนี่ย ต้องอาศัยประสบการณ์ด้วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยรึเปล่าครับ?

: คือทุกอย่างต้องใช้เวลา Timingเป็นการแบ่งอย่างเช่น ระยะเวลา 40 ปี 5ปีแรกใครอาจวางแผนจะมีรถ อีกช่วง 10 ปีจะมีบ้าน แต่ในความเป็นจริง 5 ปีแรกมันไม่มีอะไรเลย ถ้าวางแผนชีวิตดี 5 ปีแรกอาจเป็น 5 ปีทอง ในขณะที่คนอื่นอาจใช้ 5 ปีแรกไปกับอะไรอย่างอื่น เพราะฉะนั้น 5ปีของเราอาจเป็น 10 ปีของคนอื่น คือเป็นการปูพื้นฐานในอนาคตของเรา แต่ก็ขอให้เราทำตาม Timing ไป ทำอย่างสม่ำเสมอ 5ปีอาจไม่เห็นผล มันอาจจะเป็นช่วง Peak Time ซึ่ง 10 ปีอาจมีครั้งเดียว
สมัยปี 3 พี่เคยตรวจแบบกับอาจารย์กุลธร มีคำพูดของอาจารย์ที่ก็เป็นอีกอย่างที่ยึดมาทุกวันนี้ บอกว่า
“ เราต้องรู้จักฉวยโอกาสไว้ ถ้าโอกาสไม่มีเราก็ต้องสร้างมัน ”.


ขอขอบพระคุณพี่ตั้ม คุณปวีณ กอบบุญ สำหรับโอกาส ความรู้ ข้อคิดดีๆในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ และต้องขอโทษอีกครั้ง สำหรับการเสียสละเวลาของพี่ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ.

สัมภาษณ์วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553
สถานที่ บริษัท Palmer & Turner (Thailand) Ltd.
ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณปวีณ กอบบุญ Director : Palmer & Turner (Thailand) Ltd. และรุ่นพี่สถาปัตย์ลาดกระบัง
บทสัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : นายตฤณ เดี่ยวตระกูล รหัส 49020135
ผู้ให้ Assignment : ผศ.ไกรทอง โชติวุฒิพัฒนา

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring )





คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring )




สถาปนิกชาวเยอรมัน คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring ๒๔๒๒-๒๔๘๓) นับว่ามีความสำคัญต่อวงการสถาปัตยกรรมในประเทศไทยค่อนข้างมากในช่วงสมัยหนึ่ง นับเป็นยุคเริ่มแรกที่สถาปัตยกรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการสถาปัตยกรรมของประเทศไทย

เดอห์ริง เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ที่เมืองโคโลญน์ ประเทศเยอรมนี สำเร็จการศึกษา สาขา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เบอร์ลิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุ ๒๖ ปี ความสนใจ และประทับใจ ในสถาปัตยกรรม และลวดลาย ประดับประดา ตกแต่งสถาปัตยกรรม ของประเทศในแถบ ภาคพื้น เอเชียอาคเนย์ ดึงดูดใจ ให้สถาปนิกหนุ่ม สมัครเข้ารับราชการ ในประเทศสยามทันที หลังจากที่ สำเร็จการศึกษา เขาเข้ารับราชการใน กรมรถไฟหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และ ได้ออกแบบ ก่อสร้างอาคารต่างๆ สำหรับกรมรถไฟไว้ หลายแห่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒ เขาจึงได้ย้ายไป ดำรงตำแหน่ง เป็นสถาปนิก และวิศวกร กรมศุขาภิบาล สังกัด กระทรวง มหาดไทย

การเข้ารับตำแหน่งใหม่ ในกระทรวงมหาดไทย นับเป็นการปูทาง ให้สถาปนิกหนุ่ม มีโอกาสได้คุ้นเคย และใกล้ชิดกับ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่รับราชการ อยู่ในกระทรวงนี้ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ และ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๒ พระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ ทรงว่าจ้างให้ เดอห์ริง ออกแบบก่อสร้าง วังของพระองค์ และต่อมา ในเดือนกันยายน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เขาเป็น สถาปนิกผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระราชวังแห่งใหม่ ที่เพชรบุรี คือพระรามราชนิเวศน์ ( พระราชวังบ้านปืน )


พระรามราชนิเวศน์ ( พระราชวังบ้านปืน )

ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ทรงว่าจ้าง เดอห์ริง ให้ออกแบบ ก่อสร้างวังใหม่ ของพระองค์ ที่ถนนหลานหลวง (วังวรดิศ)
วังวรดิศ

และในปีเดียวกันนี้ เขายังได้รับ ความไว้วางพระทัยจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ให้ออกแบบก่อสร้าง ตำหนักที่ประทับ ของสมเด็จ พระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา ของพระองค์ (ตำหนักสมเด็จ) ในวังบางขุนพรหมอีกด้วย
ตำหนักสมเด็จ

ความเครียดทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อันเนื่องมาจาก การหักโหมงานหนัก อีกทั้ง บรรยากาศ ในการทำงาน ที่เต็มไปด้วย ความแก่งแย่งชิงดี ระหว่าง ชาวต่างประเทศ ทำให้ เดอห์ริง ล้มป่วยลงอย่างหนัก ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จนกระทั่ง คณะแพทย์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรส่งผู้ป่วย กลับไปทำการรักษา ในทวีปยุโรปโดยด่วนที่สุด
ถึงแม้ว่า เดอห์ริง จะไม่มีโอกาส กลับเข้ามารับราชการ ในประเทศสยามอีก แต่เขาก็พยายามเสมอ ที่จะกลับเข้ามา เพื่อศึกษาค้นคว้า ทางด้านศิลปะ และ สถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนเพื่อการ ขุดค้นทางโบราณคดี

สงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๖๑) นับเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ เดอห์ริง ไม่สามารถกลับเข้ามา ยังประเทศสยาม เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เดอห์ริง ได้หันมา ประกอบอาชีพ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และ โบราณคดี หนังสือ และ บทความต่างๆ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ศิลปะ และ วัฒนธรรมไทย ของเขา ได้รับความสนใจ นิยมยกย่อง และ ได้รับการยอมรับ เป็นอย่างสูง นอกจากนั้นแล้ว เดอห์ริง ยังประกอบอาชีพเสริม เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่นออกแบบลวดลายผ้า พรม กระดาษติดผนัง เครื่องทองสำริด และเครื่องถ้วยชาม ทั้งยัง แปลนวนิยาย ของนักเขียนชื่อดัง ชาวอังกฤษ และ อเมริกันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าเดอห์ริง จะเป็นชาวเยอรมัน ที่เข้ามารับราชการ ในประเทศสยาม เพียงหกปีเท่านั้น แต่เขากลับแสดง ความรัก และหวงแหนศิลปะ โบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ของไทย อย่างออกนอกหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะ เขายอมรับนับถือ ตลอดจน รู้ซึ้งถึงคุณค่า ทางภูมิปัญญา และฝีมือของช่างไทย หนังสือทุกเล่ม และบทความทุกเรื่อง ของเขา สะท้อนให้เห็นถึง ความรู้ ความเข้าใจ และ การยกย่องเชิดชู คุณค่าศิลปะไทย อย่างชัดแจ้ง
ท่ามกลางสภาวะ สงครามโลกครั้งที่ ๒ คาร์ล เดอห์ริง ได้เสียชีวิตลง เนื่องจาก ผลของการผ่าตัด ในโรงพยาบาล ณ เมืองดาร์มสตัท (Darmstadt) เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ขณะที่มีอายุเพียง ๖๒ ปี

ผลงานสำคัญของเขา ที่ยังหลงเหลืออยู่ ในปัจจุบัน ได้แก่ วังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ซึ่งนับเป็น วังแห่งแรก ที่เดอห์ริง ได้ออกแบบก่อสร้าง วังแห่งนี้ ได้สูญไปจาก ความทรงจำ ของผู้คน และเพิ่งถูกค้นพบ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง ปัจจุบันคือ ที่ทำการของ การไฟฟ้านครหลวง สามเสน นอกจากนั้น ผลงานของเขา ที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ก็ได้แก่ พระรามราชนิเวศน์ หรือวังบ้านปืน ที่จังหวัดเพชรบุรี วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ของสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ และ ตำหนักสมเด็จในวังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่ง ของธนาคารแห่งประเทศไทย
พระราชวัง และวังทั้งสามแห่ง ที่เดอห์ริง ออกแบบก่อสร้าง ไว้ในประเทศไทย นับเป็นงานออกแบบ และสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม ที่มีค่าควรแก่การศึกษา และทำนุบำรุงรักษา เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นอาคาร ที่มีความสำคัญ ต่อประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ของไทย และที่สำคัญที่สุด คือเป็นอาคาร ที่แตกต่างจาก อาคารส่วนใหญ่ ในสมัยเดียวกัน ที่มักปราศจาก ความริเริ่ม และสร้างสรรค์ เพราะมุ่งลอกเลียนแบบ สถาปัตยกรรมยุโรป ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอาใจ ผู้ว่าจ้าง ที่มีทรัพย์ แต่ถ่ายเดียว ส่วนงานของเดอห์ริง นอกจากจะเป็น ความภาคภูมิใจ ของสถาปนิกแล้ว ยังนับเป็น ตัวอย่างที่ดี ของการนำเอาสถาปัตยกรรม แบบตะวันตก มาประยุกต์เข้ากับ บางอย่างของ สถาปัตยกรรมไทย ในแนวคิดแบบ ประโยชน์นิยม (Functionalism)

อาคารทุกหลัง ที่เขาออกแบบก่อสร้าง จะมีรูปแบบที่งดงาม ไม่ซ้ำแบบกัน และไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ว่าจะเป็น การจัดวางองค์ประกอบ ทางสถาปัตยกรรม บนหน้าตึก หรือลวดลาย ที่ใช้ประดับประดา ตกแต่ง อาคาร ทั้งภายนอก และภายใน ยิ่งไปกว่านั้น เอกลักษณ์ของ แต่ละอาคาร ราวกับว่า ได้ถอดแบบมาจาก คุณลักษณะ ของผู้เป็นเจ้าของ เช่น พระรามราชนิเวศน์ ถูกสร้างให้ใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา เพื่อให้คู่ควรกับ พระบารมีของ องค์ราชา, วังวรดิศ เผยให้เห็นถึง ความนอบน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ และจริงใจ อันเป็น คุณลักษณะเด่น เฉพาะพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ, วังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ เน้นความมัธยัสถ์ ซื่อตรง เข้มแข็ง หนักแน่น และสง่างาม สมชายชาตรี ส่วนรูปแบบภายนอก ของตำหนักสมเด็จ นำเสนอ ความสวยสง่า ของสตรีเพศ ที่ไม่จำต้องมี ถนิมพิมพาภรณ์ใด มาส่งเสริม ส่วนการตกแต่งภายใน แสดงให้เห็นถึง ความงดงาม อ่อนหวาน และละมุนละไม อันเป็นรูปสมบัติ และคุณสมบัติ ของ อิสตรี พระรามราชนิเวศน์ วังวรดิศ และตำหนักสมเด็จ ต่างก็ได้รับการ บูรณะ ซ่อมแซม และดูแลรักษา เป็นอย่างดีแล้ว จากรัฐบาล และผู้เป็นเจ้าของ



วังพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ

สร้างขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแด่พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี พระราชโอรสพระองค์เดียวที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร ราชนิกูลแห่งแคว้นล้านนา นอกจากนั้นยังเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์จากประเทศเยอรมนี โดยให้นายคาร์ล เดอห์ริง เป็นผู้ออกแบบ โดยนอกจากจะมีมีลักษณะที่เรียบง่าย ตามอุปนิสัยของผู้เป็นเจ้าของแล้ว วังแห่งนี้ยังเป็นสถานที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างเชื้อพระวงศ์แห่งจักรี วงศ์และทิพจักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ยังปรากฏนามในบริเวณแห่งนี้คือ “ท่าพายัพ” อันหมายถึงนครเชียงใหม่
(ที่ตั้ง : ที่ทำการการการไฟฟ้านครหลวง (ศรีย่าน) ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ)
ที่มา :

http://www.crownproperty.or.th/cpad/vtr_1.php

ดร. กฤษณา หงษ์อุเทนhttp://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=140
http://province.m-culture.go.th/petchaburi/tour.htm

http://travel.sanook.com/widget/slidegallery/638061/1126479/

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 9 ) : 01/08/53 พิษณุโลก ( สักการะพระพุทธชินราช )

ในเช้าอีกวัน ในการอำลาสุโขทัย
ในอีกการเดินทาง ในอีกเป้าหมาย
พิษณุโลก และกรุงเทพมหานครฯ

วัดราชบูรณะ

เข้าเขตวัดโปรดลดความเลว
วัด ราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ ตัวพระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ เศียรนาค ที่ชายคาเป็นนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม เป็นวัด ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อ ว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่ เมืองพิษณุ โลกถึง25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่จังหวัดพิษณุโลก

อุโบสถวัดราชบูรณะเป็นแบบสมัยสุโขทัย แต่แตกต่างตรงที่ช่องเปิดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าช่องเดียว ไม่เป็นแถบยาว และมีหลายช่องแบบที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ( วัดพระพุทธชินราช )

พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างามสมส่วน และยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

ผังอาคารของวัด จะไม่ใช่สี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีองค์พระรอบ หันหน้าออกจากผนัง เป็น Approach นำผู้คนให้เดินเข้าสู่พื้นที่ภายในได้อย่างแยบยล

ปรางค์ประธาน รูปแบบของพระปรางค์เมื่อเริ่มสร้างสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์ที่สร้างในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไป ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ได้โปรดให้บูรณะพระปรางค์โดยดัดแปลงพระเจดีย์ ได้ให้เป็นรูปแบบพระปรางค์แบบขอมตามพระราชนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ผ่านการเดินทางที่ยาวนาน ผ่านการเดินทางมากมายเรื่องราว
ผ่านหลายเหตุการณ์ ผ่านหลากความทรงจำ
ผ่านครั้งหนึ่งในชีวิต ผ่านกว่า 20 วัด 9 วัน

ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงจดจำไว้.

( ขอขอบคุณอาจารย์จิ๋ว อาจารย์ทุกท่าน รุ่นพี่ เพื่อนๆทุกคน พี่แป๊ะและลุงพลขับอีกคน ตลอดจนถึงผู้มีอุปการคุณทุกท่าน ในทุกโอกาส ทุกสถานที่สำหรับประสบการณ์ ความรู้ ความมีสวัสดิภาพในการเดินทาง และขอขอบคุณอาจารย์ไก่ สำหรับการเขียน Blog ในครั้งนี้ด้วยครับ . )

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 8 ) : 31/07/53 เยือนกงไกรลาส และ สนามบินสุโขทัย

เช้าที่เหมือนเดิม รถคันเดิม
ข้าวเช้าเหมือนเดิม ทิศทางที่ไปไม่เหมือนเดิม

บ้านป้าอาจารย์ตี๋

บ้านชั้นเดียว ที่ได้สัดส่วน
การจัดวาง และใช้พื้นที่ภายในเป็นสัดเป็นส่วน สมบูรณ์ในพื้นที่ใช้สอย
ซึ่งมีผลมาจากการใช้ชีวิตจริงๆ

สวนสวย บรรยากาศร่มรื่น
สงบจิตสงบใจ และรื่นรมย์

กงไกรลาส
สภาพบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบวิถีชีวิต เมื่อสักสมัย 20 ปีก่อน ( อ้างอิงกับที่บ้านตัวเอง เมื่อก่อนก็เป็นแบบนี้ ) คราบของวิถีชีวิตผู้คน ความเก่า ความผูกสัมพันธ์ระหว่างคน บ้าน สถานที่ ยังคงเป็นภาพเหล่านั้นอยู่

สนามบินสุโขทัย
ถอดรูปแบบบางส่วนของโบราณสถานสุโขทัย( รูปแบบภายนอก ) และประยุกต์ผสมผสานเข้ากับ Modern ในส่วนพื้นที่ภายใน

ในบริบทของท้องทุ่งรอบสนามบิน ความเป็นสุโขทัยและชุมชนกสิกรรมแท้ๆ เผยให้กับผู้พบเห็นให้ได้สัมผัสบรรยากาศเหล่านั้น

โรงแรมสุโขทัย เฮอร์ริเทจ วิลล่า
สถาปัตยกรรมภายนอกถอดรูปแบบของโบราณสถาน การตกแต่งภายในแบบบูติค
อาคารที่วางโอบล้อมสระน้ำ เกิด Space ตรงกลาง
การผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเก่า กับการตกแต่งสมัยใหม่
คือการสร้างรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการใช้สอยในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 7 ) : 30/07/53 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

เช้าที่ไม่เร่งร้อนนัก เดินทางแบบไม่เร่งร้อนนัก
ถึงที่หมายแบบไม่เร่งร้อนนัก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

ทางเดินที่ผ่านบ้านของผู้คน ข้ามสะพานแขวน เหมือนกับจงใจให้ผู้คนเดินผ่านเพื่อซึมซับบรรยากาศ สุดทางสะพานแขวน คือ การเปิด Space ให้เห็นถึงโบราณสถานที่ยังคงยิ่งใหญ่ในบริเวณที่กว้างขวางเมื่อทอดสายตา

ไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่ดูจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว วัดนี้มีอายุตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คือ ประมาณ 800 ปีมาแล้วเป็นอย่างต่ำ ซึ่งความจริงอาจสามารถกำหนดอายุได้มากกว่านี้เพราะที่ตั้งของวัดมีลักษณะ เป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี

ลักษณะฐานปรางค์องค์นี้ มีเป็นวิหารคด 3 ชั้น ก่อผนังทึบ และเจาะช่องแสง ฐานปรางค์แผ่ขยายกว้างออกไปทั้ง 3 ด้าน (ด้านหน้าเป็นพระวิหาร) คล้ายสร้างครอบสถูปหรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่ ในช่วงก่อนสุโขทัยตอนต้น

กำแพงวัดเป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกด้านหลัง เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคา ยอดเหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สัดส่วนพอดีกับความสูงของคนในสมัยก่อน

วัดโคกสิงคาราม

โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ภายในโบสถ์มีเจดีย์ทรงกลม ซึ่งมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป รอบ ๆ เจดีย์มีเจดีย์รายตั้งอยู่โดยรอบสี่องค์ กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงมีอยู่สามด้าน กำแพงด้านทิศใต้ใช้ร่วมกับแนวกำแพงเมืองเชลียง

คราบความเก่า Textureของผนัง การจัดวางระนาบ และเจดีย์ แสดงถึงความแท้ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าให้เราได้ศึกษา

เอ้า !!!!! ล-----ง
พักรับประทานอาหาร ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับตัวโบราณสถาน สี วัสดุ รูปแบบ ฯลฯ ของอาคาร

วัดกุฎีราย

โบราณสถานที่สำคัญคือมณฑปประกอบอาคาร (มณฑปวิหาร) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครือไม้ หน้าจั่วมีรอยบาก เพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้ามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง มณฑปประกอบอาคารหลังเล็ก ตั่งอยู่ทางด้านขวาของมณฑปประกอบอาคารหลังใหญ่ นอกจากนั้นมีกลุ่มเจดีรายอยู่หกองค์ ได้ชื่อว่าเป็นมณฑปที่ทรวดทรง สัดส่วนงดงามมาก

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก

สถาปัตยกรรมของอาคาร ทั้งภายในภายนอก ได้ประยุกต์กับรูปแบบโบราณสถาน ผสมผสานกับความเป็น Modern มีสัดส่วน และระนาบที่ได้สัดส่วนกัน ตัวอาคารกับระนาบที่เป็นรั้ว และตัว Lanscape มีความเชื่อมผสาน จัดวางอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว หลังคามีการนำโครงสร้างสมัยใหม่เข้าประยุกต์ ให้ผลทางประโยชน์ใช้สอยที่ดี และไม่สูญเสียความงาม

พร้อมกับศึกษาความงามทางสถาปัตยกรรม บ้านเรือนของชาวบ้านละแวกนั้น

วัดเจดีย์เก้ายอด

อยู่บนเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแนวเขาที่ทอดต่อมาจากเขาพนมเพลิง นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตก เป็นวัดจำนวน 1 ใน 27 วัด ที่ตั้งอยู่บนสันเขา โบราณสถานสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน มียอดเจดีย์อยู่ข้างบน 9 ยอด ห้องกลางของเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งเป็นพระประธาน เจดีย์ตั้งอยู่บนเชิงเขาบนชั้นหินธรรมชาติที่ปรับแต่งเป็นพื้นที่ราบแล้วก่อ สร้างเจดีย์และวิหาร กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21

การก่อสร้างโบราณสถาน ที่อยู่บนสันเขา แต่มีจังหวะของอาคาร การตั้งอยู่ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวสถานที่ก่อสร้าง มี Step ของอาคาร การถ่ายทอดอาคารไปตามความชัน สภาพที่ตั้งตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวระหว่างสถาปัตยกรรม และสภาพแวดล้อม

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
ลัดเลาะผ่านกำแพงเมืองเดิม ที่คงความขลัง ความแท้
เขียวขจี สงบ ตามธรรมดาของธรรมชาติ

วัดนางพญา

วัดเจดีย์เจ็ดแถว

วัดช้างล้อม

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 6 ) : 29/07/53 ลับแล ( อุตรดิตถ์ เมืองที่ห้ามพูดโกหก )

รูปแบบการใช้ชีวิตตอนเช้าแบบเดิมๆ กินข้าวแบบเดิมๆ
ซื้อกับข้าวแบบเดิมๆ ขึ้นรถคันเดิม
ไปยังสถานที่ใหม่ ไม่เหมือนเดิม

ผ่านบ้านเรือนรายทาง ผ่านทุ่งนา
ผ่านวิถีชีวิตแบบชนบท ผ่านท้องถนน
เอ้า !!!!! ล-----ง
เก็บภาพ ศึกษาองค์ประกอบบ้านเรือนรายทาง ระหว่างทางไปลับแล

วัดดอนสัก
ทำบุญถวายหลอดไฟ เนื่องในวันเข้าพรรษา

ที่ชื่อว่าวัดดอนสัก เพราะตั้งอยู่บนเนินดินที่แต่เดิมมีต้นสักขึ้นอยู่มากมาย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เคยถูกไฟไหม้มาครั้งหนึ่ง ทำให้โบราณวัตถุเสียหายไปเป็นอันมาก เหลือวิหารซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาลดหลั่นลงเป็น ๓ ชั้น ด้านนอกส่วนหน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลาย

บานประตูไม้สลักลาย อ่อนช้อยงดงาม ทำด้วยไม้ปรุสลักลวดลายกนกเป็นรูปหงส์และรูปกนก ก้านขดไขว้ลายเทพนมและภาพยักษ์ คันทวย เชิงชาย ก็สลักไม้เป็นรูปพญานาคเช่นกัน เสาแปดเหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูน บัวหัวเสาเป็นบัวโถกลีบซ้อน บนฝาผนังด้านใน และผิวเสามีภาพเรื่องชาดกต่าง ๆ แต่ค่อนข้างลบเลือน และมีธรรมาสน์เก่าแก่สลักลายติดกระจกสี

ศาลาด้านข้างมีการใช้โครงสร้างตามแบบปัจจุบัน เผยให้เห็นวัสดุ และความงามทางสถาปัตยกรรมที่มีที่มาจากตัวโครงสร้างจริงๆ

วัดท้องลับแล
ความงามของชุมชนรายรอบ ศาลากลางน้ำ ตลาดเก่า และวัด ที่ยังคงรูปแบบ เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างเต็มเปี่ยม

สถาปัตย์สัญจร กับ ทริปอาจารย์จิ๋ว ( วันที่ 5 ) : 28/07/53 สุโขทัย ( อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย )

เช้าที่ครึ้มฟ้า ครึ้มฝน แต่ไม่อบอ้าว
พื้นที่แรกในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เขื่อนสรีดภงส์

ทำนบพระร่วง ภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณในการสร้างเขื่อนดิน สำหรับเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขา และขนระบายน้ำเข้าไปใช้ภายในตัวเมือง และบริเวณใกล้เคียงตัวเมือง นอกจากนี้ภายในตัวเมืองยังมีการขุดสระน้ำที่เรียกว่า ตราพัง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอย

วัดมังกร

เป็นเหมือนวัดป่า ที่อยู่รายรอบนอกเมืองเก่าสุโขทัย ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง

วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบ อินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง ๒๐๐ องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน

การเดินเข้าสู่วิหารหลัก จะถูกบังคับทางเดินด้านหน้าที่ทอดเข้าสู่หน้าวิหาร และด้วย Scale ของวิหาร เราจะถูกนำสายตา และเชื้อเชิญให้เข้าไปตำแหน่งนั้น เป็น Approach ที่นำความรู้สึกให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ
พระอัฏฐารศ ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ศูนย์บริการที่จำลองรูปแบบของอุทยานประวัติศาสตร์ นำรูปลักษณ์ที่สำคัญบางอย่าง มาใช้ในการออกแบบเพื่อให้สอดคล้อง กลมกลืน กับอุทยาน ด้วยวัสดุก่อสร้างแบบอิฐมอญ เจาะผนังเป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว หลังคาแบบจั่ว

วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวงเดิมเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ในสมัยของเรืองอำนาจ เนื่องจากพบชิ้นส่วนของเทวรูปและฐานศิวลึงค์ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัดในพระ พุทธศาสนาแบบมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก คูแม่โจน มีปรางค์ศิลาแลง 3 องค์เป็นประธานของวัด องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้พังเหลือแต่ฐาน เหลือเพียงองค์ด้านเหนือ หน้าบันประดับลายปูนปั้นเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้นที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศิลปะขอมสมัยบายน (รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) บริเวณหน้าปรางค์มีวิหารที่เหลือเพียงเสาใหญ่ศิลาแลง ถาวรวัตถุที่สร้างเสริมต่อขยายออกไปทางด้านหน้าของพระปรางค์สามองค์ เช่น เจดีย์เหลี่ยมที่เหลือเพียงยอดปรักหักพัง และมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท ได้แก่ นั่ง ยืน เดิน และนอน ปัจจุบันปรักหักพังลงเกือบหมด

วัดศรีชุม

วัดดศรีชุมมีการวางผังที่แปลกกว่าวัดทั่วไป ที่ใช้มณฑปที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัด และมีพระวิหารต่อออกมาแบบที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนของหลังคายังไม่อาจสรุปได้ว่าใช้การก่อสร้างแบบใด

Space ของลานกว้างเบื้องหน้าวัด และต้นไม้หน้าวิหาร เป็นองค์ประกอบที่ประสานและส่งเสริมให้ตัวสถาปัตยกรรมมีความงาม และคุณค่า

พระอจนะ พระประธาน Scale ที่ใหญ่ และตั้งประจันเมื่อคนเข้าสักการะ ให้ความรู้สึกสูงส่ง เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ก่อให้เกิดจิตศรัทธา เคารพ และมีผลกับจิตใจอย่างมาก

วัดศรีสวาย

เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ลักษณะเป็นปรางค์สามยอดแบบขอม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ มีคูน้ำล้อมรอบปรางค์สามองค์ โบราณสถานดังกล่าวนี้มีที่มาจากทรงปราสาทแบบขอม แต่ได้รับการดัดแปลงแตกต่างจากต้นแบบ เช่นส่วนประดับของปราสาทขอมที่เรียกว่า บันแถลง กลายเป็นรูปกลีบขนุน และปูนปั้นประดับกลีบขนุนเป็นรูปครุฑยุดนาคและเทวดา ปรางค์วัดศรีสวายจึงแตกต่างจากปรางค์สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีต้นแบบจาก ปรางค์ในศิลปะขอมและคล้ายคลึงแบบขอมมากกว่าปรางค์ในแบบของช่างสุโขทัย

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ทรงพบรูปพระอิศวรและและโบราณวัตถุหินจำหลักเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสิ นธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กร และชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ทำด้วยสำริด จึงทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้คงเป็นสถานที่พวกพราหมณ์ใช้ทำพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) แต่ต่อมาเมื่อคนไทยเข้ามาครอบครองกรุงสุโขทัย วัดนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา

ส่วนสำคัญคือ Texture และจังหวะของการเล่นรูปด้าน ที่มีความจัดเจนในองค์ประกอบ การจัดวางศิลาแลง คราบของความเก่าในวัสดุ การเจาะช่องเปิด ความลดหลั่นของระนาบตั้งและนอน ที่ก่อเป็นสถาปัตยกรรมขึ้นมา ทำให้อาคารมีความงาม และคุณค่า ตามรูปลักษณ์ที่ปรากฏอยู่


เอ้า !!!!! ล-----ง
ซึมซับ และเรียนรู้ บ้านของชาวบ้านที่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างเด่นชัด และเมื่อนำความรู้ทางสถาปัตยกรรมไปจับต้อง
แล้วมีคุณค่า