วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring )





คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring )




สถาปนิกชาวเยอรมัน คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring ๒๔๒๒-๒๔๘๓) นับว่ามีความสำคัญต่อวงการสถาปัตยกรรมในประเทศไทยค่อนข้างมากในช่วงสมัยหนึ่ง นับเป็นยุคเริ่มแรกที่สถาปัตยกรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการสถาปัตยกรรมของประเทศไทย

เดอห์ริง เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ที่เมืองโคโลญน์ ประเทศเยอรมนี สำเร็จการศึกษา สาขา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เบอร์ลิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะมีอายุ ๒๖ ปี ความสนใจ และประทับใจ ในสถาปัตยกรรม และลวดลาย ประดับประดา ตกแต่งสถาปัตยกรรม ของประเทศในแถบ ภาคพื้น เอเชียอาคเนย์ ดึงดูดใจ ให้สถาปนิกหนุ่ม สมัครเข้ารับราชการ ในประเทศสยามทันที หลังจากที่ สำเร็จการศึกษา เขาเข้ารับราชการใน กรมรถไฟหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และ ได้ออกแบบ ก่อสร้างอาคารต่างๆ สำหรับกรมรถไฟไว้ หลายแห่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒ เขาจึงได้ย้ายไป ดำรงตำแหน่ง เป็นสถาปนิก และวิศวกร กรมศุขาภิบาล สังกัด กระทรวง มหาดไทย

การเข้ารับตำแหน่งใหม่ ในกระทรวงมหาดไทย นับเป็นการปูทาง ให้สถาปนิกหนุ่ม มีโอกาสได้คุ้นเคย และใกล้ชิดกับ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่รับราชการ อยู่ในกระทรวงนี้ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ และ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๒ พระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ ทรงว่าจ้างให้ เดอห์ริง ออกแบบก่อสร้าง วังของพระองค์ และต่อมา ในเดือนกันยายน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เขาเป็น สถาปนิกผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระราชวังแห่งใหม่ ที่เพชรบุรี คือพระรามราชนิเวศน์ ( พระราชวังบ้านปืน )


พระรามราชนิเวศน์ ( พระราชวังบ้านปืน )

ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ทรงว่าจ้าง เดอห์ริง ให้ออกแบบ ก่อสร้างวังใหม่ ของพระองค์ ที่ถนนหลานหลวง (วังวรดิศ)
วังวรดิศ

และในปีเดียวกันนี้ เขายังได้รับ ความไว้วางพระทัยจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ให้ออกแบบก่อสร้าง ตำหนักที่ประทับ ของสมเด็จ พระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา ของพระองค์ (ตำหนักสมเด็จ) ในวังบางขุนพรหมอีกด้วย
ตำหนักสมเด็จ

ความเครียดทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อันเนื่องมาจาก การหักโหมงานหนัก อีกทั้ง บรรยากาศ ในการทำงาน ที่เต็มไปด้วย ความแก่งแย่งชิงดี ระหว่าง ชาวต่างประเทศ ทำให้ เดอห์ริง ล้มป่วยลงอย่างหนัก ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จนกระทั่ง คณะแพทย์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรส่งผู้ป่วย กลับไปทำการรักษา ในทวีปยุโรปโดยด่วนที่สุด
ถึงแม้ว่า เดอห์ริง จะไม่มีโอกาส กลับเข้ามารับราชการ ในประเทศสยามอีก แต่เขาก็พยายามเสมอ ที่จะกลับเข้ามา เพื่อศึกษาค้นคว้า ทางด้านศิลปะ และ สถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนเพื่อการ ขุดค้นทางโบราณคดี

สงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๖๑) นับเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ เดอห์ริง ไม่สามารถกลับเข้ามา ยังประเทศสยาม เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เดอห์ริง ได้หันมา ประกอบอาชีพ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และ โบราณคดี หนังสือ และ บทความต่างๆ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ศิลปะ และ วัฒนธรรมไทย ของเขา ได้รับความสนใจ นิยมยกย่อง และ ได้รับการยอมรับ เป็นอย่างสูง นอกจากนั้นแล้ว เดอห์ริง ยังประกอบอาชีพเสริม เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่นออกแบบลวดลายผ้า พรม กระดาษติดผนัง เครื่องทองสำริด และเครื่องถ้วยชาม ทั้งยัง แปลนวนิยาย ของนักเขียนชื่อดัง ชาวอังกฤษ และ อเมริกันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าเดอห์ริง จะเป็นชาวเยอรมัน ที่เข้ามารับราชการ ในประเทศสยาม เพียงหกปีเท่านั้น แต่เขากลับแสดง ความรัก และหวงแหนศิลปะ โบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ของไทย อย่างออกนอกหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะ เขายอมรับนับถือ ตลอดจน รู้ซึ้งถึงคุณค่า ทางภูมิปัญญา และฝีมือของช่างไทย หนังสือทุกเล่ม และบทความทุกเรื่อง ของเขา สะท้อนให้เห็นถึง ความรู้ ความเข้าใจ และ การยกย่องเชิดชู คุณค่าศิลปะไทย อย่างชัดแจ้ง
ท่ามกลางสภาวะ สงครามโลกครั้งที่ ๒ คาร์ล เดอห์ริง ได้เสียชีวิตลง เนื่องจาก ผลของการผ่าตัด ในโรงพยาบาล ณ เมืองดาร์มสตัท (Darmstadt) เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ขณะที่มีอายุเพียง ๖๒ ปี

ผลงานสำคัญของเขา ที่ยังหลงเหลืออยู่ ในปัจจุบัน ได้แก่ วังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ซึ่งนับเป็น วังแห่งแรก ที่เดอห์ริง ได้ออกแบบก่อสร้าง วังแห่งนี้ ได้สูญไปจาก ความทรงจำ ของผู้คน และเพิ่งถูกค้นพบ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง ปัจจุบันคือ ที่ทำการของ การไฟฟ้านครหลวง สามเสน นอกจากนั้น ผลงานของเขา ที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ก็ได้แก่ พระรามราชนิเวศน์ หรือวังบ้านปืน ที่จังหวัดเพชรบุรี วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ของสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ และ ตำหนักสมเด็จในวังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่ง ของธนาคารแห่งประเทศไทย
พระราชวัง และวังทั้งสามแห่ง ที่เดอห์ริง ออกแบบก่อสร้าง ไว้ในประเทศไทย นับเป็นงานออกแบบ และสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม ที่มีค่าควรแก่การศึกษา และทำนุบำรุงรักษา เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นอาคาร ที่มีความสำคัญ ต่อประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ของไทย และที่สำคัญที่สุด คือเป็นอาคาร ที่แตกต่างจาก อาคารส่วนใหญ่ ในสมัยเดียวกัน ที่มักปราศจาก ความริเริ่ม และสร้างสรรค์ เพราะมุ่งลอกเลียนแบบ สถาปัตยกรรมยุโรป ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอาใจ ผู้ว่าจ้าง ที่มีทรัพย์ แต่ถ่ายเดียว ส่วนงานของเดอห์ริง นอกจากจะเป็น ความภาคภูมิใจ ของสถาปนิกแล้ว ยังนับเป็น ตัวอย่างที่ดี ของการนำเอาสถาปัตยกรรม แบบตะวันตก มาประยุกต์เข้ากับ บางอย่างของ สถาปัตยกรรมไทย ในแนวคิดแบบ ประโยชน์นิยม (Functionalism)

อาคารทุกหลัง ที่เขาออกแบบก่อสร้าง จะมีรูปแบบที่งดงาม ไม่ซ้ำแบบกัน และไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ว่าจะเป็น การจัดวางองค์ประกอบ ทางสถาปัตยกรรม บนหน้าตึก หรือลวดลาย ที่ใช้ประดับประดา ตกแต่ง อาคาร ทั้งภายนอก และภายใน ยิ่งไปกว่านั้น เอกลักษณ์ของ แต่ละอาคาร ราวกับว่า ได้ถอดแบบมาจาก คุณลักษณะ ของผู้เป็นเจ้าของ เช่น พระรามราชนิเวศน์ ถูกสร้างให้ใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา เพื่อให้คู่ควรกับ พระบารมีของ องค์ราชา, วังวรดิศ เผยให้เห็นถึง ความนอบน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ และจริงใจ อันเป็น คุณลักษณะเด่น เฉพาะพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ, วังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ เน้นความมัธยัสถ์ ซื่อตรง เข้มแข็ง หนักแน่น และสง่างาม สมชายชาตรี ส่วนรูปแบบภายนอก ของตำหนักสมเด็จ นำเสนอ ความสวยสง่า ของสตรีเพศ ที่ไม่จำต้องมี ถนิมพิมพาภรณ์ใด มาส่งเสริม ส่วนการตกแต่งภายใน แสดงให้เห็นถึง ความงดงาม อ่อนหวาน และละมุนละไม อันเป็นรูปสมบัติ และคุณสมบัติ ของ อิสตรี พระรามราชนิเวศน์ วังวรดิศ และตำหนักสมเด็จ ต่างก็ได้รับการ บูรณะ ซ่อมแซม และดูแลรักษา เป็นอย่างดีแล้ว จากรัฐบาล และผู้เป็นเจ้าของ



วังพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ

สร้างขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแด่พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี พระราชโอรสพระองค์เดียวที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร ราชนิกูลแห่งแคว้นล้านนา นอกจากนั้นยังเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์จากประเทศเยอรมนี โดยให้นายคาร์ล เดอห์ริง เป็นผู้ออกแบบ โดยนอกจากจะมีมีลักษณะที่เรียบง่าย ตามอุปนิสัยของผู้เป็นเจ้าของแล้ว วังแห่งนี้ยังเป็นสถานที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างเชื้อพระวงศ์แห่งจักรี วงศ์และทิพจักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ยังปรากฏนามในบริเวณแห่งนี้คือ “ท่าพายัพ” อันหมายถึงนครเชียงใหม่
(ที่ตั้ง : ที่ทำการการการไฟฟ้านครหลวง (ศรีย่าน) ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ)
ที่มา :

http://www.crownproperty.or.th/cpad/vtr_1.php

ดร. กฤษณา หงษ์อุเทนhttp://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=140
http://province.m-culture.go.th/petchaburi/tour.htm

http://travel.sanook.com/widget/slidegallery/638061/1126479/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น